ทางหลวงหมายเลข 107 อ.แม่แตง – อ.เชียงดาว ตอน บ.แม่ทลาย – บ.หัวโท มีสภาพพื้นที่โดยทั่วไประหว่าง กม.55+600.000 – กม.64+000.000 แนวเส้นทางลัดเลาะไปตามเส้นชั้นความสูง เลียบตีนเขาซึ่งอยู่ด้านซ้ายทางตลอดแนวทางตามโครงการฯ โดยมีแม่น้ำปิงอยู่ทางด้านขวาของแนวทางเป็นช่วงๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการฯ ย่านชุมชนที่อยู่บนที่ราบเชิงเขา 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ทะลายระหว่าง กม.57+800.000 – กม.58+100.000 และชุมชนบ้านแก่งปันเต๊าระหว่าง กม.60+800.000 – กม.61+100.000 สภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา โดยมีแม่น้ำปิงแบ่งพื้นที่ดังกล่าว ตามแนวเหนือ / ใต้ ออกเป็น ป่าเขาฝั่งตะวันออก และป่าเขา ฝั่งตะวันตก ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา ฝั่งตะวันตกเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าแม่แตง และป่าเชียงดาว และแนวทางผ่านพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้นที่ 1-A ระหว่าง กม.58+245 – กม.58+995 มีพื้นที่ความกว้างของเขตทางหลวงเดิมกว้าง 40.00 เมตร (ข้างละ 20 เมตร จากแนวศูนย์กลางของแนวทาง) ตลอดตามความยาวโครงการ เป็นทางหลวงตามมาตรฐานทางชั้น 3 ผิวจราจรแอสฟัสท์คอนกรีต คันทางกว้าง 10.00 เมตร ทางจราจรกว้าง 7.00 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.00 – 1.50 เมตร และมีบางช่วงของถนนโครงการได้มีการขยายผิวทางจราจรเป็นขนาด 4 ช่องจราจร จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า สภาพผิวทางโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี มีร่องรอยความเสียหายแบบร่องล้อ (Rutting) บริเวณทางจราจร และหลุมบ่อ (Pot Hole) บริเวณไหล่ทาง เล็กน้อย จากการสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่พบว่า บางช่วงของสายทางมีการเสริมผิวแอสฟัสท์คอนกรีตหลายครั้ง ดังนั้นจึงต้องมีการสำรวจดินฐานรากและโครงสร้างชั้นทางเดิมโดยละเอียด เพื่อเป็นการวิเคราะห์และออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สภาพทางเรขาคณิตของทางหลวงในช่วง กม.55+600 (จุดเริ่มต้นโครงการ) ถึง กม.64+000 (จุดสิ้นสุดโครงการ) มีสภาพทางเรขาคณิตเป็นทางโค้งตลอดแนวสายทาง สภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่เขา ด้านหนึ่งเป็นเนินสูงชัน อีกด้านหนึ่งเป็นพื้นที่ราบและหุบเหวในบางช่วง การใช้ทางในปัจจุบันในบางช่วงเป็นจุดที่ทัศนียภาพในการขับขี่ไม่สู้ดีนัก จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง สภาพพื้นที่สองข้างทาง ผ่านพื้นที่ป่าเขา พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน วัด โรงพยาบาล และพื้นที่สวนป่าในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานสำรวจออกแบบจะต้องมีการวางแผนประชาสัมพันธ์โครงการและการดำเนินงานทางด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเกิดผลกระทบทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด